เตรียมเปิด “ซูเปอร์มาร์เก็ต” แห่งใหม่ใหญ่กว่าเดิม จำหน่ายผลผลิตครบวงจร สหกรณ์ฯ คอนสาร จก.

เคยประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก เกือบหลับแต่กลับมาได้ สำหรับสหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด หมู่ 3 ต.ดงบัง อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ครอบคลุมสมาชิกพื้นที่ 4 อำเภอใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ (ที่ตั้งสำนักงาน) อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ อ.ภูผาม่าน และอ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น จนกลายเป็นสหกรณ์แถวหน้าคว้ารางวัลระดับประเทศมาแล้วมากมาย ทั้งรางวัลการประกวดผลงานการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ปี 2561 หรือล่าสุดคว้ารางวัลดีเด่นระดับ 5 ในโครงการเลิศรัฐ ประเภทร่วมใจแก้จน ประจำปี 2566 จากผลงาน “สร้างรายได้ ขายผลผลิต พิชิตความจน คนสหกรณ์คอนสาร” ส่งเข้าประกวดโดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิ

“ตอนนี้มันดีขึ้นแล้ว ก่อนหน้านี้อัตคัดขัดสน ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเกษตรกรชำระหนี้ไม่ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ” อัมพร เดชพรม ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด เผยถึงสถานภาพทางการเงินสหกรณ์ฯ ช่วงวิกฤติที่ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ก่อนที่จะแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินธ.ก.ส.จำนวน 15 ล้านบาท เมื่อปี 2538 มาเสริมสภาพคล่องและจัดซื้ออุปกรณ์การตลาด ได้แก่ โรงสี ไซโล โกดังลานตาก เพื่อเก็บผลผลิตของสมาชิก ส่วนใหญ่ปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง ซึ่งช่วงนั้นราคาผลผลิตเกือบทุกชนิดค่อนข้างดี ทำให้สมาชิกสามารถชำระหนี้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ กระทั่งชำระเงินกู้ธ.ก.ส.จนหมดในอีก 3 ปีต่อมา จากนั้นจึงขายไซโลและโรงสีทิ้งไป เพราะมีค่าใช้จ่ายในการดูแล เก็บไว้เฉพาะโกดังและลานตาก

“พอชำระหนี้ ธ.ก.ส.หมด เราก็ขายไซโลกับโรงสีออกไปเลย เพราะผลผลิตไม่มี แต่ต้องดูแลมีค่าใช้จ่ายเลยขายดีกว่า เอาเงินมาทำอย่างอื่น ตอนนั้นขายได้เงินมาแค่ล้านเดียว เหลือแต่โกดังและลานตากไว้เก็บผลผลิตสมาชิก” ผู้จัดการสหกรณ์ฯ คอนสารเผย จากนั้นจึงได้ทำการขอกู้เงินจากกรมส่งเสริมสหกรณ์โดยผ่านกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) เพื่อนำมาให้สมาชิกกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นทุนในการประกอบอาชีพผ่านโครงการต่าง ๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่ส่วนใหญ่จะทำการกู้ปีต่อปีหรือตามวงรอบผลผลิต ส่วนระยะยาวนั้นมักจะกู้เพื่อจัดซื้อที่ดินทำกิน เครื่องจักรขนาดใหญ่และปลูกสร้างที่อยู่อาศัยเป็นหลัก

“เราส่งเสริมเกือบทุกอาชีพ พืชผักสมุนไพร ปศุสัตว์ มีวัว หมู ไก่พื้นเมือง ไก่ไข่ เป็ด มีเงินให้กู้ตามอายุสัตว์ อายุพืช อัตราดอกเบี้ยมีให้เลือกหลากหลาย บางโครงการต่ำร้อยละบาท บางโครงการก็ไม่มีดอกเบี้ย ระยะเวลากู้ 3 เดือน 6 เดือน 8 เดือน 12 เดือน ถ้ากู้ระยะยาวก็ร้อยละ 7 เราเป็นลูกหนี้ที่ดีของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เราใช้สินเชื่อทุกอย่างที่กรมฯ มี ถ้าเงินไม่พอก็ใช้เงินของสหกรณ์เองใส่เข้าไป” อัมพร ระบุ

ส่วนการตลาด เธอย้ำว่าไม่มีปัญหา สหกรณ์จะเป็นผู้ดูแลและรวบรวมผลผลิตของสมาชิกทั้งหมดเพื่อส่งต่อให้กับผู้ประกอบการ พ่อค้าทั้งในและนอกพื้นที่ ตลอดจนโรงงานแปรรูปอ้อย โดยจะมีการซื้อขายในราคาที่เป็นธรรม ส่วนหนึ่งก็จะนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเอง โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวเหนียว ภายใต้แบรนด์ “รุ้งงาม” โดยข้าวหอมมะลิ 105 สนนราคาจำหน่ายถุงละ 170 บาทต่อ 5 กิโลกรัม ส่วนข้าวเหนียว 160 บาทต่อ 5 กิโลกรัม

“เรื่องการตลาด สหกรณ์จะดูแลทั้งหมด อ้อยเราดิวกับทางโรงงานโดยตรง เรามีสัญญาลูกไร่แต่ละโรงงาน ส่วนข้าวเราก็นำมาแปรรูปเอง มีโลโก้สหกรณ์การเกษตรคอนสารตรารุ้งงาม แปลความหมายว่ามาจากแสงปะทะท้องทุ่งนาสวยงามเป็นสายรุ้งกลางทุ่งนา” เธอให้ข้อมูล

จากความสำเร็จในธุรกิจสินเชื่อ และธุรกิจรวบรวมผลผลิต และก้าวมาสู่ธุรกิจบริการ ซึ่งปัจจุบันสหกรณ์มีทั้งปั๊มน้ำมันและซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นของตัวเองไว้สำหรับให้บริการสมาชิกกว่า 2,000 ราย ปัจจุบันสหกรณ์ฯ คอนสารมีสินทรัพย์กว่า 600 ล้านบาท มีเงินฝากสมาชิก 300 ล้านบาทและมีสัดส่วนเงินกู้ที่ใกล้เคียงกัน

“อย่างสหกรณ์ฯ ชุมแพไม่มีธุรกิจบริการ ลูกค้าเขาเอาแต่สินเชื่ออย่างเดียว ส่วนภูผาม่านกับน้ำหนาวไม่มีสหกรณ์ในพื้นที่ เกษตรกรจึงมาเป็นสมาชิกสหกรณ์เรา เพราะเขามีความเชื่อมั่นใจในสหกรณ์เรา ถึงแม้ระยะทางจะไกลหน่อยก็ยอม” ผู้จัดการสหกรณ์ฯ คอนสารย้ำว่าปัจจุบันสหกรณ์มารุกธุรกิจบริการมากขึ้น โดยขณะนี้ได้สร้างอาคารซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่ต่อยอดมาจากของเดิม โดยมีพื้นที่ใช้สอยมากยิ่งขึ้น เพื่อนำผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกและสินค้าแปรรูปของสหกรณ์วางจำหน่าย โดยใช้เงินของสหกรณ์ในการก่อสร้างอาคารและได้ทำการขอกู้เงินจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ผ่านกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) จำนวน 5 ล้านบาท ใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการจัดหาซื้อสินค้ามาจำหน่าย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ กพส.

“ปัจจุบันเรามีเงินฝากสมาชิกประมาณ 300 ล้าน กู้กับฝากมีสัดส่วนเท่า ๆ กัน เพราะเราบังคับสมาชิกทุกคนต้องฝาก เงินกู้กรมฯ 5 ล้านตอนนี้อยู่ระหว่างทำเรื่องขอกู้ เพื่อเอามาเป็นเงินทุนหมุนเวียนในซูเปอร์มาร์เก็ตยังไม่ได้รับอนุมัติ รออยู่ค่ะ ส่วนอาคารหลังใหม่เพิ่งทดลองเปิดใช้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รอท่านอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์มาเป็นประธานเปิดอย่างเป็นทางการ” อัมพร เดชพรม ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด กล่าวทิ้งท้าย

นับเป็นอีกก้าวความสำเร็จของสหกรณ์การเกษตรคอนสาร จำกัด ที่บริหารงานภายใต้ธีม “สร้างรายได้ ขายผลผลิต พิชิตความจน คนสหกรณ์คอนสาร” ในการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรสมาชิกโดยรวม และเป็นแบบอย่างให้กับสหกรณ์การเกษตรอื่นได้เป็นอย่างดี