เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 น. ว่าที่ร้อยตรี กรกฎ ประเสริฐวงษ์ ปลัดจังหวัดพะเยา เป็นประธานเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาวพร้อมระบบส่งน้ำ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย หน่วยงานระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับท้องถิ่น และประชาชนทั่วไป ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสังคม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่โครงการได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอต่อผลการศึกษาโครงการ พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและความจำเป็น วัตถุประสงค์ ขอบเขตการดำเนินงาน และแผนการดำเนินงานโครงการ เพื่อนำผลสรุปมาพิจารณาประกอบการศึกษาโครงการต่อไป
ว่าที่ร้อยตรี กรกฎ ประเสริฐวงษ์ ปลัดจังหวัดพะเยา กล่าวว่า สภาพพื้นที่ของเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง จึงไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร เพราะฉะนั้นแหล่งน้ำจึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนหรือเกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากในสภาวะปัจจุบันเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา ส่งผลให้พื้นที่จังหวัดพะเยาเกิดปัญหาแห้งแล้ง โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเชียงม่วน ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำเลย จึงทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรงต่อเนื่องหลายสิบปี เกษตรกรสามารถทำนาได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาวพร้อมระบบส่งน้ำ ถือว่าเป็นความต้องการของพี่น้องประชาชนหรือเกษตรกรโดยตรง
“ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขอขอบคุณ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทานที่ได้พิจารณาดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาวพร้อมระบบส่งน้ำ ซึ่งโครงการของรัฐทุกโครงการที่กระทบต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนหรือเกษตรกรนั้น ส่วนราชการจะต้องให้ความสำคัญ ต้องคำนึงถึงปัญหาและความต้องการของพี่น้องประชาชนหรือเกษตรกรเป็นหลัก อีกทั้งพี่น้องประชาชนหรือเกษตรกรต้องเห็นชอบด้วย โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาวพร้อมระบบส่งน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการของพี่น้องประชาชนหรือเกษตรกรมาหลายยุคหลายสมัย จะต้องได้รับการตอบรับจากหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลสระ และอีก 2 ตำบล จะได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ถ้าหากมีระบบชลประทานที่ดี มีน้ำเพียงพอ เราก็สามารถกระจายน้ำหรือแบ่งปันน้ำไปยังพื้นที่อื่นเพื่อทำการเกษตรได้ โดยเฉพาะพืชหลักอย่างข้าว เกษตรกรสามารถปลูกข้าวนาปีและนาปรังได้ตลอดทั้งปี รวมไปถึงการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรตลอดทั้งปี ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้นตามไปด้วย” ว่าที่ร้อยตรี กรกฎ กล่าว
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้มีหนังสือที่ กร 003/1075 ลงวันที่ 21 เมษายน 2552 ถึงอธิบดีกรมชลประทานให้ดำเนินการโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาวพร้อมระบบส่งน้ำ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เพื่อช่วยเหลือราษฎร 6 หมู่บ้าน ของตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรในฤดูแล้ง และประสบปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับทำการเกษตรทั้งในฤดูฝน และฤดูแล้ง เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคของราษฎรในพื้นที่โครงการ และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำจนถึงจุดบรรจบแม่น้ำยม เพื่อเป็นแหล่งสันทนาการของราษฎรในพื้นที่ตำบลสระ และพื้นที่ใกล้เคียง ต่อมากรมชลประทานได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพพื้นที่ที่ประสบปัญหาร่วมกับราษฎรตำบลสระ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะสม โดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาวพร้อมระบบส่งน้ำจึงต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อพิจารณาพัฒนาโครงการตามขั้นตอนต่อไป เนื่องจากพื้นที่โครงการอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง จำนวน 278 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่อ่างเก็บน้ำ จำนวน 246 ไร่ พื้นที่หัวงาน จำนวน 30 ไร่ และถนนเข้าหัวงาน/แนวท่อส่งน้ำ จำนวน 2 ไร่ และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยม เขตป่าเพื่อเศรษฐกิจ จำนวน 3 ไร่ และเขตป่าเพื่อการเกษตร จำนวน 4 ไร่ ได้แก่ แนวถนน/แนวท่อส่งน้ำ
จากการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) เพื่อขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง จำนวน 278 ไร่ กรมชลประทานได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาในปี 2565 โดยขอบเขตการศึกษา ประกอบด้วย (1) ศึกษาความเหมาะสมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา โดยการศึกษาทางเลือกในการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม ครอบคลุมประเภทโครงการทั้งหมด ที่ตั้งหัวงาน และอ่างเก็บน้ำ ความจุเก็บกักที่เหมาะสม และพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ ออกแบบเบื้องต้น ประมาณราคาค่าก่อสร้าง แผนงานก่อสร้าง และวิเคราะห์ความเหมาะสมด้านเศรษฐศาสตร์ (2) ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ให้ครอบคลุมทุกองค์ประกอบทางสิ่งแวดล้อม และคุณค่าต่าง ๆ ที่คาดว่าได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ ได้แก่ ด้านกายภาพ ด้านชีวภาพ ด้านคุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และด้านคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต (3) การดำเนินการด้านประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วม เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการพัฒนาโครงการได้รับรู้ข้อมูล และร่วมแสดงความคิดเห็นแนวทางในการกำหนดองค์ประกอบของโครงการตั้งแต่ต้น จะทำให้โครงการเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ได้มีการจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาวพร้อมระบบส่งน้ำ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา และจัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 วันที่ 27 มิถุนายน 2565 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา จัดประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 วันที่ 20 เมษายน 2566 ณ หอประชุม หมู่ที่ 8 บ้านราษฎร์พัฒนา ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา
“การก่อสร้างโครงการฯ จะมีผลกระทบต่อประชาชนหรือครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ก่อสร้างองค์ประกอบโครงการ ได้แก่ พื้นที่หัวงาน/อ่างเก็บน้ำ พื้นที่แนวถนนและแนวท่อ เนื่องจากต้องสูญเสียพื้นที่ทำกินบางส่วน และทรัพย์สินเพื่อการก่อสร้างโครงการ โดยมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 47 ราย ทั้งนี้ กรมชลฯ จะมีการจ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรม เพื่อให้ครัวเรือนดังกล่าวสามารถจัดหาที่ดินทำกินใหม่ได้” นายสุรชาติ กล่าว
โดยสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาวพร้อมระบบส่งน้ำ มีที่ตั้งหัวงานอยู่ที่หมู่ที่ 8 บ้านราษฎร์พัฒนา ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา พื้นที่รับน้ำเหนือเขื่อนครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 12.50 ตารางกิโลเมตร พื้นที่รับประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,445 ไร่ แบ่งเป็นฝั่งซ้าย 885 ไร่ ฝั่งขวา 560 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 1,331 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ชลประทานฝั่งซ้าย 808 ไร่ พื้นที่ชลประทานฝั่งขวา 523 ไร่ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,174.82 มิลลิเมตร/ปี ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเฉลี่ย 3.84 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ลักษณะอ่างเก็บน้ำ ระดับน้ำเก็บกักปกติ +293.00 เมตร (รทก.) ระดับน้ำสูงสุด +294.50 เมตร (รทก.) ระดับสันเขื่อน +296.00 เมตร (รทก.) ความจุที่ระดับเก็บกักปกติ 2.10 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ผิวอ่างเก็บน้ำที่ระดับน้ำสูงสุด 246 ไร่ ลักษณะเป็นเขื่อนดินระดับสันเขื่อน +296.00 เมตร (รทก.) ความยาวเขื่อน 310.00 เมตร ความสูงเขื่อน 22.00 เมตร ความกว้างสันเขื่อน 8.00 เมตร ประกอบด้วย อาคารระบายน้ำล้น ฝั่งขวาของทำนบดินลักษณะอาคารระบายน้ำล้น Modified Side Channel Spillway ความยาวสันฝาย 40 เมตร ระดับสันฝาย +293.00 ม.รทก. รองรับปริมาณน้ำสูงสุดในรอบ 500 ปี ที่ระดับน้ำสูงสุด +294.50 ม.รทก., อาคารสลายพลังงานเป็นรูปแบบ Stilling Basin Type III, อาคารท่อส่งน้ำ (River Outlet) และท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิม ชนิด Steel Liner ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.00 เมตร ธรณีท่ออยู่ที่ระดับ +274.50 ม.รทก. รองรับปริมาณน้ำท่าในช่วงฤดูแล้งในรอบการเกิด 10 ปี, อาคารรับน้ำด้านหน้า (Intake) เลือกรูปแบบอาคาร Drop Inlet บานควบคุมแบบ Gate Valve, อาคารสลายพลังงานรูปแบบปกติ Chute &Stilling Basin ,ระบบท่อส่งน้ำของโครงการด้วยท่อส่งน้ำขนาด Ø 0.60 เมตร, ระบบชลประทาน ประเภทระบบท่อส่งน้ำ ขนาดท่อ MP 5.30 กิโลเมตร, 1R-MP 2.30 กิโลเมตร, 1L-MP 1.60 กิโลเมตร ความยาวรวม 9.20 กิโลเมตร สามารถเก็บกักน้ำต้นทุนได้ 2.10 ล้านลูกบาศก์เมตร จะสามารถเก็บกักปริมาณน้ำท่าที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาวเฉลี่ย 3.84 ล้านลูกบาศก์เมตร และระบายน้ำเฉลี่ย 3.65 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณน้ำสูญเสียเฉลี่ย 0.199 ล้านลูกบาศก์เมตร มีความต้องการใช้น้ำในอนาคตรวมทั้งสิ้น 2.731 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 71.21 ของปริมาณน้ำท่า โดยมีการขาดแคลนน้ำเฉลี่ย 0.23 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี หรือประมาณร้อยละ 8.50 ของปริมาณความต้องการน้ำ โดยมีปริมาณน้ำที่ระบายลงสู่ลำน้ำห้วยแหนเฉลี่ย 1.148 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ลดลงจากสภาพปัจจุบัน 1.697 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 331,580,000 บาท แยกเป็นงานก่อสร้างเขื่อน และอาคารประกอบ จำนวน 167,395,000 บาท และงานก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำและอาคารประกอบ จำนวน 164,185,000 บาท คาดว่าในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้า จะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน 1.767 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่งน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภค 0.105 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่งน้ำใช้เพื่ออุตสาหกรรม 0.488 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่งน้ำใช้เพื่อท่องเที่ยว 0.008 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่งน้ำใช้เพื่อปศุสัตว์ 0.083 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่งน้ำใช้เพื่อรักษาสมดุลนิเวศด้านท้ายน้ำ 0.280 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี รวมปริมาณน้ำที่ส่งให้ทุกกิจกรรม 2.731 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี
ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาวพร้อมระบบส่งน้ำแล้วเสร็จ จะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตรในฤดูแล้ง และแก้ไขปัญหาอุทกภัยในฤดูฝนของราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการดังกล่าว จะเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่เกษตรกรรม โดยมุ่งเน้นให้เก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อทำการเกษตร และส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง ปลูกพืชไร่ ปลูกต้นไม้ยืนต้น เลี้ยงสัตว์ ทำการประมง ฯลฯ เพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งก่อให้เกิดผลดีและก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้านนายธนะพงษ์ สืบจิตต์ รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา กล่าวว่า ชาวบ้านต้องทนทุกข์กับปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง มานานหลายสิบปี เนื่องจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ ส่งผลให้การทำนาปลูกข้าว ปลูกพืชผักต่างๆ ได้ผลผลิตไม่ดี มีปัญหาขาดทุนมาตลอด เมื่อรู้ว่าจะมีโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาวฯ ในพื้นที่อำเภอเชียงม่วน ชาวบ้านก็รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะรอคอยมานานและเป็นโครงการที่มีปัญหามาตลอด ก็ต้องขอบคุณ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ช่วยผลักดันโครงการดังกล่าวให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งชาวบ้านทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าอยากจะได้แหล่งน้ำเร็วๆ ถ้าหากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาวฯ ดำเนินการแล้วเสร็จ ชาวบ้านก็จะมีแหล่งน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรเพิ่มขึ้น โดยจะมีการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร ประมง และเลี้ยงสัตว์ การขยายฟาร์มวัว ฟาร์มหมู เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยทางภาคเอกชนจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชให้แก่ชาวบ้าน เพื่อนำไปเพาะปลูกสำหรับขายเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้น รวมถึงการปลูกพืชระยะสั้น เช่น ฟักทอง แตงกวา มะระ เป็นต้น อีกทั้งสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ซึ่งปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ย 30,000 บาท/ปี/ครัวเรือน คาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีรายได้สูงขึ้นเฉลี่ย 100,000-150,000 บาท/ปี/ครัวเรือน
“ผมต้องขอขอบคุณกรมชลประทานและทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญกับปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และขอฝากกรมชลฯ เร่งดำเนินการโครงการนี้ให้สำเร็จโดยเร็ว รวมไปถึงกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถ้ากีดกันการใช้พื้นที่อุทยานฯ มากเกินไป ชาวบ้านก็จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ซึ่งทุกวันนี้ชาวบ้านก็ช่วยกันดูแลปกป้องผืนป่า ไม่มีการบุกรุกป่าเพิ่มขี้น เพราะชาวบ้านทุกคนมีจิตสำนึกในการรักษ์ป่า รักษ์น้ำ” รองประธานสภา อบต.สระ กล่าวทิ้งท้าย
ทางด้านนายนิพนธ์ พอใจ
ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8 ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา กล่าวว่า ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากปัญหาความแห้งแล้งอย่างต่อเนื่องยาวนาน 20 กว่าปีแล้ว โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะเกิดน้ำหลาก ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ พอถึงช่วงฤดูแล้งก็ปลูกพืช ทำไร่ ไม่ได้เลย ชาวบ้านจึงอยากได้อ่างเก็บน้ำ ซึ่งชาวบ้านมีความหวัง ดีใจ และภาคภูมิใจ เมื่อรู้ว่าจะมีโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาวฯ เกิดขึ้น เพราะชาวบ้านมีความต้องการสูงมาก เนื่องจากมีพื้นที่ทำกินจำนวนมาก ถ้าหากว่าโครงการนี้สำเร็จ มีน้ำสมบูรณ์เพิ่มขึ้น เกษตรกรสามารถทำการเกษตรอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เช่น ปลูกข้าว ปลูกพืชไร่ พืชสวน ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา และส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจราคาสูง เช่น ทุเรียน ส้ม ลำไย เชื่อว่าคุณภาพชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมจะดีขึ้นแน่นอน ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ย 30,000 กว่าบาท/ปี/ครัวเรือน ก็จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ถ้ามีพื้นที่ทำกินมาก รายได้ก็มาก ขณะที่บ้านราษฎร์พัฒนามีพื้นที่ป่าชุมชนเกือบ 1,000 ไร่ ในอนาคตข้างหน้าจะส่งเสริมให้มีกิจกรรมปลูกป่าชุมชนเพิ่มขึ้น เช่น ป่าเต็งรัง และวางแผนพัฒนาถนนรอบป่าชุมชน สร้างแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแห่งใหม่ต่อไป
นางสาวนภารัตน์ ชุมภูชนะภัย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา กล่าวด้วยว่า รอคอยโครงการนี้มานานแล้ว ถ้ามีโครงการนี้เกิดขึ้นจริงๆ ชาวบ้านหลายหมู่บ้านจะได้รับประโยชน์อย่างมากมายมหาศาล มีการใช้น้ำอย่างประหยัด เปิด-ปิดน้ำเป็นเวลา จะส่งผลให้การทำนา ทำไร่ ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีเงินมากขึ้น และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่เกิดขึ้นในชุมชน
//////////