กรมชลฯ ดึงหน่วยงานภาครัฐและประชาชนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนโครงการจัดทำแผนส่งเสริมความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ ในพื้นที่ชุมชนต้นน้ำสาธิต จังหวัดลำพูน แม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงใหม่

กรมชลฯ ดึงหน่วยงานภาครัฐและประชาชนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนโครงการจัดทำแผนส่งเสริมความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ ในพื้นที่ชุมชนต้นน้ำสาธิต จังหวัดลำพูน แม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงใหม่ จัดกิจกรรมมอบต้นพันธุ์กาแฟอาราบิก้า เชียงใหม่ 80 จำนวน 400 ต้น และปล่อยพันธุ์ปลาท้องถิ่น จำนวน 50,000 ตัว

วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ  (ผส.บก.) กรมชลประทาน พร้อมด้วยนายพรมงคล ชิดชอบ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 นายมหิทธิ์ วงศ์ษา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารโครงการ นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน นายวีระพงษ์ เดชจินดา นักวิชาการประมง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดแม่ฮ่องสอน นายอนันต์ ปัญญาเพิ่ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ผู้แทนศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแม่ฮ่องสอน นายศุภณัชรัญญ์ พงสินวุฒิบุญญาภา นายก อบต.กองก๋อย นายพรศักดิ์ ปัญญา ผู้ใหญ่บ้านแพะคะปวง ม.12 ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมมอบต้นพันธุ์กาแฟอาราบิก้า เชียงใหม่ 80 จำนวน 400 ต้น และปล่อยพันธุ์ปลาท้องถิ่น จำนวน 50,000 ตัว อาทิ ปลาแก้มช้ำ ปลาพวงหิน ปลามูดหน้านอ สนับสนุนโดยกรมชลประทานและศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดแม่ฮ่องสอน ณ กาดฮิมยวม ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ  (ผส.บก.) กรมชลประทาน กล่าวว่า จากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ ทั่วถึง และเป็นธรรม ตลอดจนเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทานได้เล็งเห็นความสำคัญของการดูแลพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งจะเป็นแหล่งเติมน้ำต้นทุนให้กับแหล่งน้ำธรรมชาติและอ่างเก็บน้ำที่ได้ดำเนินการแล้ว โดยในปี 2564-2565 กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการศึกษาสร้างการรับรู้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก หรือเรียกโครงการสั้นๆ ว่า PAR 1 โดยมีพื้นที่ศึกษา 18 ตำบล ใน 8 อำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และลำพูน โดยดำเนินการสำรวจข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งพบว่าประชาชนมีความต้องการทั้งด้านชลประทาน ทรัพยากรน้ำ ถนน ไฟฟ้า เกษตร การอนุรักษ์ การท่องเที่ยว ที่ดินทำกิน ทรัพยากรน้ำบาดาล การขุดลอกลำน้ำ และการศึกษา กรมชลประทานได้นำความต้องการดังกล่าวจัดทำโครงการนำร่องเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวให้บรรลุวัตถุประสงค์ ได้แก่ โครงการอนุรักษ์ป่า ดิน และน้ำ ในพื้นที่ต้นน้ำภาคเหนือตอนล่าง พื้นที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งดำเนินการในช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2566 และโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความยั่งยืนของชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำภาคเหนือ โดยการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศ ในพื้นที่ อ.อมก๋อย และอ.ฮอด จ.เชียงใหม่ โดยได้ดำเนินการในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2566

สำหรับโครงการจัดทำแผนส่งเสริมความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ ในพื้นที่ชุมชนต้นน้ำสาธิต จังหวัดลำพูน แม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงใหม่ โดยมีพื้นที่ศึกษา 20 ตำบล ใน 8 อำเภอของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และลำพูน โดยจะมีการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันพัฒนารวมทั้งสิ้น 610 โครงการ จัดทำเป็นแผนงาน/โครงการ ซึ่งจะต้องระบุถึงสถาพปัญหาในพื้นที่ ตำแหน่งที่ตั้ง พื้นที่รับประโยชน์ งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงาน การศึกษาด้านสิ่งแวดลัอมและสังคม ตลอดจนการนำเสนอรูปแบบองค์กรผู้ใช้น้ำระดับตำบล/ชุมชน จากนั้นนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันผลักดันและขับเคลื่อนโครงการให้สำเร็จลุล่วง

ทั้งนี้ ผลจากการคัดเลือกโครงการตามหลักการสามารถสรุปได้ 4 โครงการนำร่อง ได้แก่ 1.โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยข้าวหลาม ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก 2.โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยจ๊อม ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน 3.โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ต๋อม อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ 4.โครงการก่อสร้างฝายห้วยแม่ก้อ ต.ก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน

นายสุรชาติ กล่าวอีกว่า การดำเนินกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงนั้น โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ ร่วมติดตามผลและร่วมรับผลประโยชน์ ซึ่งจะทำให้การจัดทำแผนส่งเสริมความมั่นคงด้านการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการในพื้นที่ชุมชนต้นน้ำจังหวัดลำพูน แม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงใหม่ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้ความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมกันของประชาชนในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลาในวันนี้ได้รับความร่วมมือจากกรมประมง ส่วนต้นพันธุ์กาแฟอาราบิก้า เชียงใหม่ 80 ได้รับความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตร โดยมีการแจกนำร่องไปแล้ว จำนวน 400 ต้น เพื่อทำเป็นอาชีพเสริมในการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป

ด้านนายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ชาว อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่กรมชลประทานได้กำหนดให้พื้นที่ อ.แม่สะเรียง เป็นพื้นที่ศึกษาการจัดทำแผนส่งเสริมความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการ ซึ่งพื้นที่ อ แม่สะเรียง และอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ถือเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม รวมทั้งปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะชุมชนบนพื้นที่สูง ซึ่งการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุตามแผนการพัฒนาโครงการ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนข้อมูลด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และมีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งผลสำเร็จจากการศึกษาโครงการดังกล่าวจะเป็นเสมือนแนวทางหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง และอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการจัดทำแผนส่งเสริมความมั่นคงด้านการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการจะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง และอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ให้บรรลุเป้าหมายและเป็นต้นแบบในการขยายผลการจัดทำแผนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่อื่นต่อไป