วิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ สร้างความเชื่อมั่น “เรียนอาชีวะ มีอาชีพทันที”

ดร.ปริวิชญ์ ไชยประเสริฐ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ /ผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดนครสวรรค์ จัดกิจกรรมสรุปงานปลายปีการศึกษาภาคเรียนที่ 1/ 2566 เพื่อเป็นการยืนยันถึงความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอนสายวิชาชีพ โดยกิจกรรมแรกที่เปิดให้เห็นถึงความทันสมัยของหลักสูตร คือ เรื่องของเทคนิคยานยนต์ไฟฟ้า มีการเปิดสอนทั้งในระดับปวช. ปวส. ที่พิเศษกว่านั้นคือมีหลักสูตรระยะสั้น 75 ชั่วโมง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาเรียน นำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับยานยนต์เดิมที่มีอยู่ ผู้เรียนสามารถนำรถจักรยานยนต์ มาดัดแปลง เปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้า โดยการเข้ารับการอบรมและลงมือทำจริง มีครูคอยให้คำแนะนำตลอดเวลา สำหรับเกษตรกรที่เข้ารับการอบรม ได้เรียนรู้ระบบโซล่าเซลล์ ที่นำไปใช้กับอุปกรณ์การเกษตร เช่น รถไถประหยัดพลังงานอุปกรณ์พ่นปุ๋ยน้ำโดยใช้รีโมทควบคุม ทำให้ปลอดภัยจากสารเคมี ส่วนผู้เรียนในระดับปวช. ปวส. ได้สร้าง”นวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับคนพิการ Kotaka EV” (มาจากชื่ออำเภอท่าตะโก ในจังหวัดนครสวรรค์) เป็นรถไฟฟ้าสำหรับผู้พิการที่สามารถขับเดินทางได้ในระยะใกล้ ๆ ด้วยตนเอง เป็นการแบ่งเบาภาระจากผู้ดูแล นวัตกรรมชิ้นนี้ได้รับรางวัลจากหลายเวที สร้างความภาคภูมิใจและเป็นแรงบันดาลใจสำหรับครูและนักศึกษาที่จะพัฒนาผลงานต่อไป

กิจกรรมที่ 2 คือ “การแข่งขันทักษะวิชาชีพ” ทุกสาขาวิชาที่เปิดสอน เพื่อให้ผู้เรียนได้ทดสอบความรู้ ความสามารถของตนเอง นำไปสู่การประกอบอาชีพที่มีคุณภาพ เช่น การประกอบและซ่อมเครื่องขยายเสียงเคลื่อนที่ การติดตั้งเครื่องปรับอากาศ การเขียนโปรแกรมควบคุมอุปกรณ์ IOT การแข่งทักษะ เมคคาทรอนิกส์ และหุ่นยนต์งานคอนกรีต งานปูนและทักษะพื้นฐานที่ต้องใช้ในชีวิตด้านการพูดประเภทต่างๆ ทั้งการพูดในที่สาธารณะ การกล่าว สุนทรพจน์ ภาษาไทยภาษาอังกฤษและภาษาจีน รวมไปถึงการประกวดร้องเพลง ทั้งนี้การแข่งขันทักษะวิชาชีพเป็นเสมือนการเตรียมพร้อมที่จะยกระดับเข้าสู่การแข่งขันในระดับภาคและระดับชาติ ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

กิจกรรมที่ 3 คือ “การอบรมการเป็นผู้ประกอบการใหม่เพื่อเข้าสู่ธุรกิจ SME” เป็นกิจกรรมในโครงการศูนย์บ่มเพาะ ผู้ประกอบการ ของสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดนครสวรรค์ร่วมกับธนาคารออมสิน หนุนนักศึกษาอาชีวศึกษา “มีเงินทุนธุรกิจเปิดตัว” ทั้งนี้มีกลุ่มนักศึกษาที่ประกอบธุรกิจรายย่อยจากสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 7 แห่ง ที่มีผลิตภัณฑ์หรือผลผลิตนำออกจำหน่ายแล้ว เข้ารับการอบรม โดยหวังว่าจะมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนเพื่อเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่มีกลยุทธ์ในการจำหน่ายสินค้าให้แพร่หลายมากขึ้น สำหรับธุรกิจของนักศึกษาที่เข้าอบรม เป็นธุรกิจที่มีความทันสมัยสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในสังคม เช่น ดินออแกนิคแคคตัส (ดินที่ได้จากเครื่องเขย่าดิน นวัตกรรมของนักศึกษาช่างกล) กล้วยโห่ (กล้วยสอดไส้แยมมะม่วงหาวมะนาวโห่ ) Good skin care (ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสมุนไพร) จากกิจกรรมที่กล่าวมาทำให้เห็นว่า วิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ ภายใต้การบริหารงานของดร.ปริวิชญ์ ไชยประเสริฐ มีทั้งความพร้อมและความทันสมัย เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิชาชีพที่เข้มแข็งทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

ดร.ปริวิชญ์ กล่าวปิดท้ายว่า “การที่จะทำให้อาชีวศึกษาเป็นที่ยอมรับของสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย ก่อนหน้านี้พ่อแม่ไม่นิยมให้ลูกมาเรียนอาชีวะ เพราะมองว่าเป็นเด็กเรียนไม่เก่ง ไม่มีที่ไป จบแล้วตกงาน แต่พอสภาพสังคมเปลี่ยน คนตกงานมากขึ้นทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนจบอาชีวะ จึงกลับมามองเห็นว่า คนเรียนอาชีวะมีทางไป มีอาชีพติดตัว สามารถทำงานได้ตั้งแต่ยังเรียน และทำงานได้ทันทีหลังเรียนจบ การมีอาชีพติดตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ สถานศึกษาอาชีวะทุกแห่ง จึงได้ บูรณาการ ความรู้ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์และภาษาให้เข้ากับการจัดการเรียนการสอนสายอาชีพ เพื่อบ่มเพาะให้ผู้เรียนมีทักษะ มีอาชีพ เป็นทั้งนวัตกรที่มีความรู้ มีความมั่นคงในอาชีพและประสบความสำเร็จในชีวิต ไปพร้อม ๆ กัน”