วันที่ 11 มีนาคม 2567 ที่กองบิน 41 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ น.อ.ปรธร จินะวัฒน์ ผู้บังคับการกองบิน 41 ได้พบปะสื่อมวลชน พร้อมแถลงข่าวการนำเครื่องบิน AT-6TH เข้าประจำการฝูงบิน 411 ว่า กองทัพอากาศได้สั่งซื้อเครื่องบินดังกล่าว จำนวน 12 ลำตามงบประมาณผูกพัน ปี 2564-2468รวมมูลค่ากว่า 4,600 ล้านบาท ซึ่งเครื่องบินดังกล่าว เป็นเครื่องบินรบ
ใบพักแบบขับไล่ ที่มีความเร็ว 250-300 น็อต หรือความเร็วไม่สูงมากโดยมีแผนเข้าประจำการที่กองบิน 41 จ.เชียงใหม่ จำนวน 2 ลำ ในช่วงมิถุนายนนี้ และเข้าประจำการครบทุกลำ ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งได้ส่งนักบินชุดแรกไปฝึกซ้อมที่สหรัฐอเมริกา ก่อนรับเครื่องบินดังกล่าวเข้าประจำการฝูงบิน ตามลำดับ
“เครื่องบินดังกล่าว เป็นเครื่องบินโจมตีเบา เหมาะสมกับภูมิประเทศภาคเหนือ ที่มีแนวชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อใช้ลาดตระเวนและสนับสนุนการรบภาคพื้นดินทหารราบเนื่องมีความเร็วไม่สูงมากนัก สามารถบินได้นาน 4 ชั่วโมงครึ่ง โดยมีศูนย์บำรุงอากาศยานที่ตาคลี จ.นครสวรรค์ ดูแลและบำรุงรักษา ภายใต้ความร่วมมือการพัฒนาด้านเทคโนโลยีกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะระบบซอฟท์แวร์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการบินภายในประเทศด้วย” น.อ.ปรธร กล่าว
น.อ.ปรธร กล่าวอีกว่า เครื่องบินรบดังกล่าว เพื่อทดแทนฝูงบิน L39 ที่ปลดประจำการแล้ว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถป้องกันประเทศ และรักษาอธิปไตยของชาติ ซึ่งเครื่องบินดังกล่าว มีอายุการใช้งานกว่า 30 ปีมีค่าบำรุงรักษาน้อย สามารถประหยัดงบประมาณได้มากขึ้น
“ข้อสงสัยว่าเป็นเครื่องบินรบใบพัดสามารถต่อกรกับเครื่องบินไอพ่นเพื่อนบ้านได้หรือไม่ โดยเฉพาะ MIC 39 ที่ผลิตในรัสเซีย หากต้องเผชิญหน้าสงครามกลางเวหา ก็ขอบอกว่า กองทัพอากาศ มีเครื่องบินรบไอพ่นแบบขับไล่ อาทิ F 16 คอยคุ้มเครื่องบินดังกล่าวอยู่แล้ว พร้อมปกป้องคุ้มครองอธืปไตย ไม่ให้ศัตรูรุกราน หรือฝ่ายตรงข้ามล่วงล้ำเข้ามาอีก จึงไม่น่าเป็นห่วงเรื่องดังกล่าวมากนัก เพราะต้องปฏิบัติตามสถานการณ์ และกฏการปะทะตามสากลอยู่แล้ว” น.อ.ปรธร กล่าว
ดังนั้นอยากให้ประชาชนเชื่อมั่นขีดความสามารถกองทัพอากาศ และเหล่าทัพ เพื่อสร้างความมั่นใจและอุ่นใจในการปกป้อง รักษาความมั่นคงและความสงบของประเทศด้วย