องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามและขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์

วันพุธที่ 11 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น.นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยนางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการ กปร. รักษาราชการแทนเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปประชุมติดตามและขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ณ ห้องประชุมเมืองราด ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์

ในการนี้ ได้รับฟังสรุปความก้าวหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งสำนักงาน กปร. และกรมชลประทานได้ดำเนินโครงการสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก โดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 7 โครงการ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ โดยอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำก้ออันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำคลองลำกงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำห้วยนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และอ่างเก็บน้ำห้วยเล็งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดลพบุรี จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหินอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักเพิ่มขึ้นอีกในปี 2564 จำนวน 9 โครงการ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระราชดำริเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 สรุปความว่าให้เขื่อนป่าสักฯสามารถเก็บกักน้ำได้มากกว่านี้ เพราะต่อไปน้ำอาจจะไม่พอ ความจุของเขื่อนที่เพิ่มขึ้นนี้ หมายความว่าควรก่อสร้างอ่างเก็บน้ำดักน้ำไว้ แต่อ่างต้องไม่ใหญ่มาก อาจจะสัก 2-3 แห่ง เพื่อจะได้ชะลอน้ำไว้ แล้วค่อย ๆ ทยอยปล่อยมา และเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2548 ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพระราชดำริเพิ่มเติม สรุปความว่ให้พิจารณาเก็บกักน้ำตอนบนของลำน้ำสาขาลำน้ำป่าสักไว้ให้มาก เพื่อใช้ด้านการเกษตรและป้องกันอุทกภัย เนื่องจากน้ำเหนือเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณมากและให้พิจารณาจัดเก็บให้เหมาะสม เพื่อใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตรกรรมให้แก่ราษฎรในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้แก่ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าวและบริเวณใกล้เคียง โดยสำนักงาน กปร. และ กรมชลประทานได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก โดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 7 โครงการ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 6 โครงการ และจังหวัดลพบุรี จำนวน 1 โครงการ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งพื้นที่ลุ่มน้ำ จึงมีการพิจารณาแนวทางการสนองพระราชดำริเพื่อให้ครบถ้วนตามที่ได้พระราชทานไว้ ต่อมาในปี 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 9 โครงการ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 8 โครงการ และจังหวัดลพบุรี จำนวน 1 โครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนต่าง

จากนั้นช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะเดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเล็งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ รับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานโครงการฯ โอกาสนี้ องคมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายและสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนในพื้นที่ จากนั้น พบปะเยี่ยมเยียนราษฎรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ และลงพื้นที่เยี่ยมชมสภาพพื้นที่โครงการฯ พร้อมร่วมปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างร่มเงาและความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ต่อไป

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเล็งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็น 1 ใน 7 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2558 ปริมาณการเก็บกักน้ำ 17.20 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยเหลือพื้นที่ชลประทานของอ่างเก็บน้ำห้วยเล็งฯ ในฤดูฝน จำนวน 10,000 ไร่ และในฤดูแล้ง จำนวน 3,400 ไร่ นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำในนาม “กลุ่มพัฒนาห้วยเล็งเพื่อการเกษตร (อันเนื่องมาจากพระราชดำริ)” และกลุ่มพื้นฐาน จำนวน 4 กลุ่ม มีสมาชิก 194 ราย สำหรับแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป ได้แก่ 1) ขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยเล็ง ระยะที่ 1 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักน้ำของอ่าง 2) แก้มลิงบ่อยืมดินห้วยเล็ง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝน จำนวน 500 ไร่ และในฤดูแล้ง จำนวน 500 ไร่ 3) โครงการปรับปรุงระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเล็ง ระยะที่ 2 ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำ MP พร้อมอาคารประกอบห้วยเล็ง (เพิ่มเติมหัวจ่ายน้ำทั้งหมด 10 จุด) เพื่อช่วยเหลือราษฎร จำนวน 200 ครัวเรือน และพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝน จำนวน 500 ไร่ และในฤดูแล้ง จำนวน 500 ไร่ โครงการปรับปรุงระบบส่งน้ำคลองดาดคอนกรีต สาย 1L-MC อ่างเก็บน้ำห้วยเล็ง ช่วยเหลือราษฎร จำนวน 100 ครัวเรือน และพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝน จำนวน 200 ไร่ และในฤดูแล้ง จำนวน 200 ไร่ และโครงการปรับปรุงระบบส่งน้ำ บ้านเขาสูง อ่างเก็บน้ำห้วยเล็ง ความยาวท่อ 1,000 เมตร เพื่อช่วยเหลือราษฎร จำนวน 120 ครัวเรือน และพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝน จำนวน 350 ไร่ และในฤดูแล้ง จำนวน 350 ไร่